วันนี้ขอเขียนบทความเกี่ยวกับ “การตลาดร้านอาหารกับสัมผัสทั้ง 5 – Sensory Marketing” ซึ้งอยู่ในหมวดหนึ่งของการทำการตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ของลูกค้า (Experiential Marketing)
พูดกันง่ายๆ ว่าปัจจุบันนี้ใครจะเปิดร้านอาหารสุ่มสี่สุ่มห้า แล้วคิดว่าลูกค้าจะเดินเข้าร้านมากินง่ายๆ ไม่ค่อยมีอีกแล้ว เพราะลูกค้ายุคใหม่ ใช้หลายปัจจัย ในการเลือกทานอาหาร เลือกซื้อสินค้า เลือกใช้บริการ ฉะนั้นเราต้องสร้างประสบการณ์ภายในร้านอาหารของเรา ให้ลูกค้าได้มาสัมผัสรับรู้ความเป็นแบรนด์ของร้านเราผ่านสัมผัสทั้ง 5 สิ่ง และบ่งบอกความเป็นแบรนด์ของร้านอาหารเรา
5 Sence ห้าสัมผัสก็ประกอบไปด้วย รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วถ้าถามว่า สัมผัสทั้ง 5 มีส่วนในการสร้างแบรนด์ร้านอาหารของเราได้อย่างไร? ต้องอธิบายว่า หากยอมรับว่าการสร้างแบรนด์คือ การสร้างชื่อเสียง (Brand = Reputation) ชื่อเสียงที่สร้างขี้นจะต้องเป็นชื่อเสียงที่สัมผัสได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเมื่อมาร้านเรา เขาจะต้องได้รับสัมผัสไม่ทางใดทางหนึ่ง ก็หลายๆสัมผัสพร้อมๆกัน เรื่องของ Sense มาเกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ร้านอาหาร เพราะ Sense เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเอกลักษณ์ของร้านอาหารเรา
Sense 1: Sight หรือ Visual identity
การจดจำสิ่งที่เห็นถือเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญที่สุด เช่น การเลือกโลโก้ร้าน สีธีมของร้าน การใช้แสงสีไฟภายในร้าน เป็นการสร้างภาพจดจำให้กับผู้บริโภค การทำร้านอาหาร คุณต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่าร้านจะใช้ธีมร้านสีอะไร ใช้โลโก้ร้านแบบไหน สีหลักเป็นสีอะไร ให้อารมณ์ ความรู้สึกแบบไหน นั้นเป็นภาพจดจำที่ชัดเจนในทุกครั้งที่ลูกค้ากลับมาใช้บริการของร้านของคุณ ลองนึกถึงร้าน Mcdonald’s ซิคุณนึกถึงอะไร ภาพโลโก้รูปตัวเอ็มใหญ่ๆ อยู่ในแบร็คกราวน์สีแดง โผล่ออกมาเลยใช่ไหม่ หรือนึกถึงร้านกาแฟสตาร์บัค ภาพนางเงือกบนโลโก้สีเขียว บรรยากาศภายในร้านที่น่านั่ง แสงไฟที่ไม่สว่างมากนัก เหมาะต่อการนั่งจิบกาแฟไปพร้อมกับดื่มด่ำบรรยกาศภายในร้านไปเรื่อยๆใช่ไหม
ทำร้านอาหารสมัยนี้ บรรยากาศภายในร้าน ถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกๆ เพราะหลายๆคนไม่ได้เลือกร้านที่จะนั่งทานจากความอร่อยของอาหารป็นอันดับแรกแล้ว บรรยากาศภายในร้านตั้งหาก ที่มีส่วนช่วยตัดสินใจเดินเข้าร้าน ร้านอาหารหลายๆร้านในเมืองกรุงจึงให้ความสำคัญกับการออกแบบตกแต่งร้านอาหาร ให้มีสไตล์เป็นของตัวเอง เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
Sense 2 : Smell หรือ Olfactory identity
กลิ่น ถือว่าเป็นสัมผัสที่สำคัญมาก ต่อธุรกิจร้านอาหาร การทำให้ลูกค้าได้จดจำกลิ่นของอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ได้ ย่อมได้เปรียบทางการแข่งขัน ขอยกตัวอย่างเคสร้านสตาร์บัค เกี่ยวกับเรื่องกลิ่นอีกครั้ง ใครการตามที่เดินผ่านร้านสตาร์บัค จะต้องได้รับกลิ่นหอมๆของกาแฟสตาร์บัค ฟุ้งออกมารอบๆร้าน จนยั่วยวนใจให้เดินเข้าไปใช้บริการ ทั้งทีบางทีอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายอยากดื่มมาก่อนก็ตาม
อีกเคสนึง ขอยกตัวอย่างจริงจากร้านเล็กๆร้านนึง ขายข้าวโพดอบเนย ร้านตั้งอยู่ใกล้ทางขึ้นเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้าของร้านสังเกตุว่าเวลาที่มีลูกค้ามาซื้อข้าวโพดอบเนยที่ร้าน อีกสักพักก็มักจะมีลูกค้าคนที่ 2-3 ตามมาซื้อติดๆกันเสมอ ก็เนื่องมาจาก พอแม่ค้าเปิดฝาหม้อนึ่งอบข้าวโพด กลิ่นหอมยั่วยวนใจ ก็ได้ไปกระตุ้นจมูกของลูกค้าคนอื่นๆที่เดินผ่านมา จนต้องหยุดซื้อตามๆกัน จนตอนหลังแม่ค้ารู้เทคนิคนี้ก็เลย ใช้วิธีเปิดฝาหม้อนึ่งให้กลิ่นหอมๆ โชยออกมาทุกครั้งที่มีเรือเข้ามาจอดที่ท่า ผลก็คือได้ลูกค้ามุงซื้อข้าวโพดอบเนยมากมาย เป็นเทคนิคเล็กๆที่ดึงดูดลูกค้าได้ดีอย่างทีเดียว ลองประยุกต์ไปใช้กันดูนะครับ
Sense 3 : Sound หรือ Sonic identity
เสียง เป็นอีกหนึ่งสัมผัสที่สามารถสร้างความจดจำต่อแบรนด์ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น เพลงจิงเกิ้ลของรถขายไอติม Wall’s ถึงแม้ว่าตัวเราอยู่ในบ้าน แต่เมื่อได้ยินเสียงนี้เมื่อไร ก็จดจำได้ว่ารถขายไอติมวอลล์มาแล้ว เป็นการสร้างความจดจำด้านเสียง ที่ปลุกฝังมานาน กรณีร้านอาหารการใช้เสียง ภายในร้านมีได้หลายแบบ ทั้งเสียงเพลงที่เปิดภายในร้าน ควรทำให้เป็นธีมเดียวกัน ถ้ามาร้านเราจะต้องเปิดเพลงแนวนี้เท่านั้น ไม่ใช่มั่วเปิดเพลงทุกสไตล์
หรือการสร้างเอกลักษณ์ทางเสียงขณะประกอบอาหาร ก็เป็นอีกวิธีนึงที่น่าสนใจเช่นกัน ยกตัวอย่างร้านทาโกะยากิชื่อดังร้านนึง ชื่อร้านกินดาโกะ ซึ้งเป็นร้านขายทาโกะยากิอย่างเดียวจากญี่ปุ่นมาเปิดในไทย จุดเด่นอย่างนึงของร้านนี้ซึ้งถือเป็นกิมมิคที่ดีคือ ขณะพนักงานกำลังตั้งใจทำเจ้าทาโกะยากิอยู่ พนักงานจะพร้อมใจกันตะโกนเป็นภาษาญี่ปุ่นดังๆ “อิรัชไชมาเซะ!” และคำอื่นอีก(ฟังไม่ออก) แต่เป็นการเรียกลูกค้า และสร้างบรรยากาศขณะรับประทานได้ดีทีเดียว จนหลายๆคน แค่เดินผ่าน พอได้กลิ่นหอมและเสียงเรียกลูกค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้าน ก็กลายมาเป็นตัวเรียกลูกค้าเข้าร้านได้สบายๆ
Sense 4 : Unique Taste
รสชาติ แน่นอนธุรกิจร้านอาหาร รสชาติเป็นปัจจัยหลักที่ต้องให้ความสำคัญ การสร้างสรรค์รสชาติอาหารให้มีเอกลักษณ์เฉพาะของร้าน ยากต่อการเลียนแบบ จะทำให้ลูกค้าติดใจในฝีมือการทำอาหารของร้านคุณ จนต้องกลับมาทานใหม่ คุณลองคิดซิ เคยไหมที่อยากกินอาหารเมนูนี้ แล้วต้องไปกินที่ร้านนี้เท่านั้น นั้นแหละที่เรียกว่า Unique Taste
Sense 5 : Touch หรือ Tactile identity
การสร้างการรับรู้ของแบรนด์ผ่านการสัมผัส สำหรับร้านอาหารคงต้องพูดถึงการทำให้ลูกค้าได้มีกิจกรรมเล็กๆน้อยๆ ในระหว่างที่ทาน หรือก่อนการทาน ไม่ใช่อาหารที่ปรุงมาเสร็จแล้วทานได้ทันที แต่อาจจะมีกิมมิคอะไรเล็กน้อย ให้ลูกค้าได้ D.I.Y ทำเองอีกนิดก่อนทาน หรือจัดการกับอาหารของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น
- ร้านเปปเปอร์ลันซ์ ร้านสเต็กญี่ปุ่น ที่เสริฟ์อาหารแบบจานร้อนที่ยังปรุงไม่สุกเต็มที่ แต่ให้ลูกค้ามาทำการคลุกเคล้าเองบนโต๊ะอาหารต่ออีกนิด ควันหอมกรุนๆ การละเลงอาหารด้วยตัวเอง เป็นการสร้างประสบการณ์ก่อนทาน ที่ดีทีเดียว
- ร้านอาหารแนวปิ้งย่าง ร้านสุกี้หม้อไฟ ร้านจิ้มจุ่ม ก็จัดเป็นร้านอาหารที่ลูกค้าได้มีประสบการณ์ในการปรุงอาหารเอง ก่อนทาน ก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งของการสร้างการรับรู้ผ่านการสัมผัสเช่นกัน
อ่านมาครบ สัมผัสทั้ง 5 แล้วลองเอาไปปรับดูนะครับ ว่าร้านอาหารของคุณจะสามารถประยุกต์เอา Sense ไหนไปใช้ได้บ้าง ยิ่งร้านคุณสามารถสร้างการรับรู้หลายๆสัมผัสมากเท่าไร ลูกค้าก็จะยิ่งจดจำแบรนด์ของคุณได้มากเท่านั้น สุดท้ายอวยพรขอให้ทุกท่านขายดิบขายดีครับ
-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=-=